ค้นหาข้อมูลในบล็อก (Search in this blog)

Wednesday, November 23, 2011

เมื่อเริ่มเจอทางตันระหว่างทำงานวิจัย!!!

ผมเป็นคนหนึ่งที่มักเจอปัญหาระหว่างการทำงานวิจัย เช่น ไม่แน่ใจว่าวิธีการที่เรานำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ทดลองแก้ปัญหาด้วยเครื่องมือหรือวิธีการที่มีแล้วก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เป็นต้น
จากตัวอย่างของปัญหา (ทางตัน) ที่กล่าวมา ทำให้ผมต้องมานั่งทบทวนสาเหตุของปัญหาและวิธีการที่จะแก้ไข (เพราะไม่มีทางไปแล้ว ฮ่าๆๆ) ซึ่งก็ได้ตัวช่วยอย่างดีคือ หนังสือ "การคิดเชิงวิเคราะห์" ของ ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (แนะนำให้ซื้อมาอ่านอย่างละเอียดครับ และสามารถอ่านคร่าวๆได้ ที่นี่ ครับ) ผมขออนุญาตแนะนำแนวทางที่ผมใช้ได้ผลมาแล้ว ดังนี้ครับ
การทำงานวิจัยต้องอาศัย 2 สิ่งที่สำคัญคือ "ความรู้" และ "ความเข้าใจ" สองคำนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งครับ ผมขอยกตัวอย่างดังนี้ครับ เมื่อเจอปัญหาใดๆผมมักเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า เรามีความรู้และความเข้าใจสำหรับการแก้ไขปัญหาแล้วหรือยัง ถ้ายังละก็ ต้องค้นหาเจ้าความรู้ก่อนเป็นอันดับแรกครับ วิธีการหาความรู้ทำได้หลายวิธีนะครับ เช่น การอ่านหนังสือ การค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต การสอบถามผู้เชี่ยวชาญ การเข้าคอร์สเรียนหรือการอ่านงานวิจัยของคนอื่นที่ได้ศึกษามาก่อนแล้ว เจ้าความรู้เหล่านี้จะเปรียบเสมือน เครื่องมือ ที่เรามีไว้ใช้ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งความรู้บางอย่างนั้นสามารถช่วยเราแก้ไขปัญหาได้ ในขณะที่ความรู้บางอย่างก็ไม่สามารถช่วยเราแก้ไขปัญหา (ไม่มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับปัญหา) ตรงนี้ต้องพิจารณาไตร่ตรองดูนะครับ ว่าความรู้แบบไหนเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาของเรา ขั้นตอนการค้นหาเจ้าความรู้นี้ต้องอาศัย ความพยายามและความอดทนอย่างสูงครับ ส่วนใหญ่ที่พบเจอคือ เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ จะหมดแรงและล้มเลิกกันในขั้นตอนนี้ครับ โปรดจำไว้เสมอว่า ถ้าเราไม่มีความรู้เป็นพื้นฐานแล้ว การทำงานหรือการแก้ไขปัญหาจะไม่มีทางประสบความสำเร็จครับ!!!
ต่อมาเมื่อเรามีเครื่องมือ หรือ เจ้า "ความรู้" ที่จำเป็นต้องใช้แล้ว เราก็ต้องรู้จักใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับปัญหา ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัย เจ้า "ความเข้าใจ" ครับ ปัญหาของการได้มาซึ่งความเข้าใจ คือ แต่ละคนสามารถได้มาซึ่งความเข้าใจได้แตกต่างกัน หรือที่มักพบว่า "เข้าใจไปคนละทาง" นั่นแหละครับ หรือ บางคนเมื่อทำงานวิจัยไปแล้วพบว่า มีแต่ความรู้เต็มไปหมด แต่ขาดความเข้าใจ ซึ่งก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้นะครับ ผมเลยขออนุญาตแนะนำให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ให้นั่งคิดช้าๆและค่อยๆเรียบเรียงความคิดให้เป็นระบบ หรือวาดโครงร่างของการทำงานวิจัยออกมา แล้วค่อยๆมา "วิเคราะห์" ดูว่าเราจำเป็นต้องใช้ความรู้อะไรบ้าง มีความรู้แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มีก็จำเป็นต้องขวยขวายมาให้ได้นะครับ แม้จะต้องใช้เวลาและความพยายามสักหน่อย ส่วนความสามารถในการวิเคราะห์นั้น มนุษย์เรานั้นมีอยู่แล้วครับ ต่างกันที่ว่า เรจะทำอย่างไรให้สามารถประยุกต์ใช้กับงานของเรา จากประสบการณ์ของผม (ความล้มเหลวที่ผมเคยพบเจอ แฮะๆๆ) ผมพบว่า เราจะใช้ความรู้ที่มีในการแก้ปัญหาได้ก็ต่อเมื่อ เรารู้จัก "การคิดแบบวิเคราะห์" ครับ คนที่คิดวิเคราะห์บ่อยๆ ก็จะได้เปรียบครับ ซึ่งความสามารถในการ "เข้าใจปัญหา" นั้นจะต่างจาก "ความรู้" กล่าวคือ ค้นหาไม่ค่อยเจอครับ ต้องอาศัยการฝึกฝนครับ สำหรับผมคิดว่า มันเป็น สิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน (เกิดจากความคิดมากกว่าการฟังหรือการอ่าน)
ถ้าจะให้เปรียบเทียบนะครับ "ความรู้" เปรียบเหมือนกับ เครื่องมือ ส่วน "ความเข้าใจ" เปรียบเหมือน วิธีการดำเนินงาน ครับ
งาน(ปัญหา)ใดๆจะสำเร็จต้องมีทั้ง "เครื่องมือและวิธีการดำเนินงาน" ฉันใด ทุกงานวิจัยจะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัย "ความรู้และความเข้าใจ" ฉันนั้นครับ....
สิ่งสำคัญอีกประการ คือ การคิดบวก ส่วนตัวผมเชื่อว่า ไม่มีทางตันในงานวิจัย ซึ่งผมมีคติประจำใจเวลาทำงานวิจัยใดแล้วพบปัญหา คือ "ในเมื่อนักวิจัยอื่นๆสามารถทำได้ เราก็สามารถทำได้เช่นกัน" เพียงแต่หนทางในการบรรลุเป้าหมายอาจแตกต่างกันได้ ความเชื่อส่วนตัวของผม คือ มนุษย์เรานั้นมีจุดเด่นและจุดด้อย ที่แตกต่างกัน บางคนอาจมีสติปัญญาที่ล้ำเลิศ สามารถเรียนรู้และเข้าใจวิทยาการได้อย่างรวดเร็วในขณะที่บางคนอาจต้องอาศัยเวลาและความพยายามที่มากกว่าคนอื่นๆในการเข้าใจและเรียนรู้ แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าเรามีความพยายามและตั้งใจจริงแล้ว ผมเชื่อว่า งานวิจัยทุกอย่างสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ครับ...
ผมจะขอยกตัวอย่างเรื่องของ ซุนวู เจ้าประโยคเด็ดที่ว่า "รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" ในขณะที่ซุนวูเป็นนักเรียนนั้น เขาเป็นคนที่เรียนรู้ได้ช้ากว่าเพื่อนๆในชั้นเรียน แต่สิ่งที่ซุนวูต่างจากคนอื่นคือ เขามีความพยายามในการเล่าเรียนอย่างมาก เช่น เมื่อนักเรียนร่วมชั้นคนอื่นๆ เข้าใจที่อาจารย์สอนหมดแล้ว ก็ต่างพากันกลับบ้าน หรือออกไปทำกิจกรรมอย่างอื่น แต่ซุนวูนั้นยังคงมุ่งมั่น ขบคิดและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่อาจารย์ได้สั่งสอน (คิดช้าๆแต่รอบครอบ) จนกระทั่ง อาจารย์ได้ยกย่อง ซุนวู ว่าเป็นลูกศิยษ์ที่สามารถเรียนรู้และเข้าใจในเนื้อหาที่สั่งสอนอย่างท่องแท้ มากกว่าศิย์คนอื่นๆ ตรงนี้ผมอยากจะขอเสริมว่า เมื่อเล่าเรียนนั้น เราจะได้ความรู้แต่ถ้าเราสามารถประยุกต์ใความรู้เหล่านั้นได้ แสดงว่า เราเข้าใจ ครับ!!!
....ความเข้าใจย่อมมีประโยชน์มากกว่าความรู้ครับ.....
สุดท้ายนี้ ขอให้กำลังใจนักศึกษาและนักวิจัยทุกท่านครับ...

No comments:

Post a Comment